ยกระดับการใช้ห้องสมุด

กลยุทธ์ที่ 3 ยกระดับการใช้ห้องสมุดและแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ความสำคัญ/ความเป็นมา

          ห้องสมุดโรงเรียน เป็นที่รวบรวมหนังสือ วารสาร เอกสาร และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ตลอดจน โสตทัศน์วัสดุที่สอดคล้องกับหลักสูตรในปัจจุบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการสอนของครู และนักเรียนในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ มุ่งให้นักเรียนรู้จักใช้ประโยชน์จากห้องสมุด  และแหล่งวิทยาการต่าง ๆ และศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  เพื่อบริการแก่นักเรียน  ครู  อาจารย์  และชุมชน  เป็นแหล่งวิทยาการที่สนับสนุนการเรียนการสอน  ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน  ตลอดจนมีทักษะในการใช้วัสดุสารนิเทศ  โดยมีบรรณารักษ์หรือครูบรรณารักษ์  รับผิดชอบการบริหารจัดการและดำเนินงาน  บริการและกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น ห้องสมุดโรงเรียนจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ (Learning Resource Centers) และเป็นองค์ประกอบสำคัญของโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอน
ภาพความสำเร็จ
การดำเนินงานห้องสมุดโรงเรียนจึงควรมีภาพความสำเร็จ ดังนี้
          1. การบริหารจัดการ
                   1.1 มีโครงสร้างการบริหารงานห้องสมุด ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางแผนการดำเนินงานห้องสมุด  โดยมีผู้บริหารโรงเรียนเป็นที่ปรึกษา ผู้ช่วยผู้บริหารฝ่ายวิชาการเป็นประธาน หัวหน้ากลุ่มวิชาทุกกลุ่มเป็นกรรมการ  บรรณารักษ์เป็นกรรมการและเลขานุการ
                   1.2 มีระเบียบการใช้ห้องสมุด เพื่อกำหนดเป็นกติกาในการใช้สถานที่ให้เกิดระบบ เกิดความเรียบร้อย และเป็นประโยชน์สูงสุด
                   1.3  มีตารางการใช้ห้องสมุด เพื่อกำหนดระยะเวลาการใช้บริการอย่างทั่วถึง เหมาะสมกับพื้นที่และทรัพยากรของห้องสมุด
                   1.4  ตารางการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันของนักเรียน (บรรณารักษ์น้อย) เพื่อกำหนดระยะเวลาและบทบาทหน้าที่การปฏิบัติงาน
          2. การให้บริการ
                   2.1 สถิติการเข้าใช้ห้องสมุดของนักเรียน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับบรรณารักษ์ในการตรวจสอบความสนใจการเข้าใช้บริการ เพื่อกระตุ้น หรือจัดกิจกรรมให้นักเรียนเกิดความสนใจเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น
                   2.2 สถิติและระเบียบการยืม-คืนหนังสือ เพื่อกำหนดกติกาการยืม-คืน ทั้งประเภทหนังสือ จำนวนหนังสือ และระยะเวลาการยืม ให้เหมาะสมกับสภาพห้องสมุด
                   2.3 การให้บริการมุมสืบค้นข้อมูลทาง Internet โรงเรียนควรมีบริการการสืบค้นข้อมูลทาง Internet สำหรับผู้ใช้บริการตามความเหมาะสม
                   2.4 กิจกรรมห้องสมุด โรงเรียนควรจัดกิจกรรมห้องสมุด เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า ใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้
                   2.5 ที่นั่งสำหรับอ่านหนังสือ โรงเรียนจัดบริการที่นั่งสำหรับการศึกษาค้นคว้าหรือทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้
3. การจัดบรรยากาศ
                   3.1 จัดมุมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯ ซึ่งพระองค์ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าฟ้ายอดนักอ่าน เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับนักเรียน
                   3.2 มีมุมอาเซียนศึกษา ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเรื่องราวที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนไทยทุกคน จึงต้องจัดหาเอกสาร สื่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียนในการเตรียมความพร้อมให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
                   3.3 มีมุมเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้ทุกคนดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข ห้องสมุดโรงเรียนจึงควรรวบรวมเอกสาร สื่อต่างๆ สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน
                   3.4 มีมุมแนะนำหนังสือใหม่ จัดมุมแนะนำหนังสือใหม่เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้
                   3.5 การจัดหมวดหมู่หนังสือ ควรจัดหมวดหมู่หนังสือเป็นระบบ เพื่อความสะดวกในการค้นคว้า
                   3.6 มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้/ศึกษาค้นคว้า จัดบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ทั้งแสงสว่าง การถ่ายเทอากาศ ป้ายคำขวัญ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้
                   3.7 สัญลักษณ์เกี่ยวกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันหลักของประเทศ
                   3.8 ป้ายนิเทศ (เป็นปัจจุบัน) มีป้ายนิเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ โดยผลัดเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของเหตุการณ์ (ปรับให้กระชับ)
แนวทางการดำเนินงาน
          ห้องสมุดนับเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ การดำเนินงานห้องสมุดนั้นโรงเรียนจึงควรให้ความสำคัญ ส่งเสริม สนับสนุนให้มีห้องสมุดเป็นแหล่งการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษาค้นคว้า ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
          1. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานห้องสมุดโรงเรียน
          2. จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งเป็นห้องสมุดโรงเรียน
          3. จัดหาหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ โสตทัศนูปกรณ์ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับห้องสมุดโรงเรียน
          4. จัดให้บริการห้องสมุดสำหรับครู นักเรียน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยจัดบรรยากาศ กำหนดบทบาทหน้าที่ ระเบียบกติกา และกิจกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้
          5. มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานห้องสมุดโรงเรียน โดยตรวจสอบข้อมูล สถิติการใช้บริการ การยืมหนังสือ การเข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนแบบสอบถามความคิดเห็น ความต้องการ ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นข้อมูลการดำเนินงาน
          6. นำผลการประเมินการดำเนินงานมาใช้เป็นข้อมูลในการกระตุ้นปรับปรุง และพัฒนา ให้การดำเนินงานห้องสมุดโรงเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

การวัดและประเมินผลการดำเนินงาน
          ตัวชี้วัดความสำเร็จ
          ด้านที่ 1 การบริหารจัดการ มีโครงสร้างการบริหารงานห้องสมุด มีระเบียบการใช้ห้องสมุด มีตารางการใช้ห้องสมุด มีตารางการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันของนักเรียน (บรรณารักษ์น้อย)
          ด้านที่ 2 การให้บริการ มีระเบียบและสถิติการยืม-คืนหนังสือ มีสถิติการเข้าใช้ห้องสมุดของนักเรียน
 มีการให้บริการมุมสืบค้นข้อมูลทาง Internet มีกิจกรรมห้องสมุด มีที่นั่งสำหรับอ่านหนังสือ
          ด้านที่ 3 การจัดบรรยากาศ มีการจัดมุมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯ มีการจัดมุมอาเซียน จัดมุมเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดมุมแนะนำหนังสือใหม่ มีการจัดหมวดหมู่หนังสือ มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้/ศึกษาค้นคว้า มีสัญลักษณ์เกี่ยวกับชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีป้ายนิเทศ (เป็นปัจจุบัน)
          วิธีการวัด
              1. สังเกต สอบถาม ตรวจสอบการจัดทำแผนงาน/ โครงการ
              2. สังเกต สอบถาม ตรวจสอบการดำเนินงานของห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการ การให้บริการ การจัดบรรยากาศ
              3. สังเกต สอบถาม เอกสารร่องรอยบันทึกการใช้ห้องสมุด การใช้แหล่งเรียนรู้จากมุมต่างๆ
          เกณฑ์การประเมินผล
          การประเมินผล ให้ประเมินผลในภาพรวมการดำเนินงานของโรงเรียนในเรื่องการนิเทศภายใน สู่การปฏิบัติ เป็นระดับคุณภาพ 5 ระดับ คือ
              คุณภาพดีเยี่ยม   หมายถึง มีการดำเนินงานตามแนวทางที่กำหนดจนเกิดผลดีตามภาพความสำเร็จและสามารถเป็นตัวอย่างได้
              คุณภาพดี   หมายถึง       มีการดำเนินงานส่วนใหญ่ตามแนวทางที่กำหนดจนเกิดผลดี
 ตามภาพความสำเร็จ
              คุณภาพพอใช้   หมายถึง มีการดำเนินงานส่วนใหญ่ตามแนวทางที่กำหนดจนเกิดผลดีและมีแนวโน้มบรรลุตามภาพความสำเร็จ
              คุณภาพปรับปรุง หมายถึง     มีการดำเนินงานตามแนวทางที่กำหนดบ้างและมีแนวโน้มไม่บรรลุตามภาพความสำเร็จ
              คุณภาพปรับปรุงเร่งด่วน   หมายถึง    ไม่มีการดำเนินงานตามแนวทางที่กำหนดและมีแนวโน้มไม่บรรลุตามภาพความสำเร็จ

=================================================================== 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น